(แฟ้มภาพซินหัว : อุปกรณ์ทางการทหารของขบวนสวนสนามเนื่องในวันกองทัพในกรุงเตหะรานของอิหร่าน วันที่ 18 เม.ย. 2025)
เฮลซิงกิ, 29 เม.ย. (ซินหัว) -- รายงานจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสต็อกโฮล์ม (SIPRI) เมื่อวันจันทร์ (28 เม.ย.) ระบุว่าการใช้จ่ายทางการทหารทั่วโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดในปี 2024 นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น
รายงานระบุว่าการใช้จ่ายทางการทหารทั่วโลกในปี 2024 อยู่ที่ 2.72 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 90 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น โดยเฉพาะในยุโรปและตะวันออกกลาง
การใช้จ่ายทางการทหารในยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 อยู่ที่ 6.93 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 23 ล้านล้านบาท) ส่วนการใช้จ่ายทางการทหารในตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 อยู่ที่ประมาณ 2.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.11 ล้านล้านบาท)
รายงานเผยว่าการใช้จ่ายทางการทหารของอิสราเอลเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 อยู่ที่ 4.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.55 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1967
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายทางการทหารสูงสุดในโลกด้วยมูลค่า 9.97 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33 ล้านล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 37 ของการใช้จ่ายทางการทหารทั้งหมดทั่วโลกในปี 2024
ขณะการใช้จ่ายทางการทหารของสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 50 ล้านล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 55 ของการใช้จ่ายทางการทหารทั้งหมดทั่วโลก
เจด กิเบอร์โต ริคาร์ด นักวิจัยของสถาบันฯ กล่าวว่าการใช้จ่ายทางการทหารที่เพิ่มขึ้นในหมู่สมาชิกนาโตในยุโรปเป็นผลจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับกรณีสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากนาโตที่อาจเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ดี ริคาร์ดเสริมว่าการเพิ่มการใช้จ่ายทางการทหารเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้หมายความว่ามีขีดความสามารถทางการทหารหรือเป็นอิสระจากสหรัฐฯ มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อนึ่ง สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสต็อกโฮล์มก่อตั้งปี 1966 ทำหน้าที่มอบข้อมูล การวิเคราะห์ และคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้จ่ายทางการทหาร การค้าอาวุธ การปลดอาวุธ และการควบคุมอาวุธ